ในปัจจุบันรถเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตทุกคน นอกเหนือจากปัจจัย 4 แต่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำผู้คนรายได้น้อยลงแต่ราคารถใหม่สูงขึ้น รถมือสองจึงเป็นทางเลือกของความต้องการที่มากขึ้น เราจึงอยากนำเสนอแนวทางในการเลือกซื้อรถมือสองเพื่อป้องกันความผิดหวัง เพราะการซื้อรถมือสองนั้นมีรายละเอียดย่อยมากมายที่ต้องพิจารณารถที่ท่านจะซื้อ 1. ตรวจเช็คโครงสร้าง ขั้นตอนแรกในการเลือกซื้อรถมือสองให้ดูสภาพของโครงสร้างภายนอกตัวรถก่อน จากด้านหน้าไปจรดด้านท้ายสังเกตตามตะเข็บรอยต่อของหลังคา ขอบกระจกหน้า-หลัง จากนั้นเปิดฝากระโปรงหน้าดูที่คานหม้อน้ำทั้งด้านบนและด้านล่าง ขอยึดกันชนที่ต่อเชื่อมมาจากแชสซีส์ ดูตะเข็บรอยต่อภายในห้องเครื่องให้สังเกตดูว่ามีร่องรอยของความเสียหายหรือไม่ เพราะรถที่ถูกชนมาอย่างหนักพวกรอยเชื่อมหลังจากซ่อมมาแล้ว มักจะไม่เหมือนกับที่มาจากโรงงาน การดูด้านหลังก็ให้ดูเหมือนด้านหน้าแต่โครงสร้างส่วนหลังนี้มีความสำคัญน้อยกว่าส่วนหน้า โครงสร้างของรถยนต์นั้น หลายส่วนสามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ และก็มีบางส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถ้าจะเปลี่ยนก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมากจนไม่มีใครนิยมทำกัน อย่างบังโคลนหน้า ฝากระโปรง ประตู สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่แทนได้ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุมา ส่วนแก้มหลับที่ต่อกับเสาหลังคารถหรือเฟรมตัวถังกับเสาประตู เป็นชิ้นส่วนที่ไม่นิยมเปลี่ยนกัน ด้วยขั้นตอนความยุ่งยากและความแข็งแรงของส่วนนั้นที่จะลดลงหลังจากทำการซ่อมไปแล้ว จึงไม่เป็นที่นิยมของอู่ซ่อมจนพอจะเรียกได้ว่าเป็นชิ้นส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ จึงควรจะต้องดูที่บริเวณนี้ให้ดี 2. ตรวจเช็คสภาพตัวถังภายนอกและสีรถ ลำดับถัดมาก็เป็นเรื่องของสภาพตัวถังภายนอก ให้ดูว่าสภาพของสีรอบๆ ตัวรถว่ามีการบวมปูดของสีหรือสีซีดด่าง ผุเป็นสนิม มากน้อยแค่ไหน เพราะการทำสีนั้นแต่ละส่วน แต่ละบริเวณนั้น เช่น บังโคลน ค่าทำสีชิ้นละ 2,000-3,000 บาท ถ้าต้องทำสีมากหลาย ๆ จุด คำนวณดูแล้วค่าทำสีจะสูงมากก็ไม่คุ้มเหมือนกัน 3. ตรวจเช็คเครื่องยนต์ ราคาของเครื่องยนต์นั้นก็เป็นพันเป็นหมื่นจึงควรตรวจเช็คอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น จากนั้นเมื่อสตาร์ทเครื่องแล้วให้ดูว่าเครื่องยนต์เดินเรียบหรือไม่ และให้ฟังดูว่ามีเสียงอะไรผิดปกติหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน มีเสียงดังแต็ก…แต็ก ของวาล์วหรือไม่ หรือเสียงดังกั๊กๆ ที่เกิดจากแคมชาฟท์หรือเพลาข้อเหวี่ยง สลักลูกสูบหรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าเครื่องยนต์มีปัญหาใหญ่แน่ๆ ต่อมาให้ลองฟังดูว่ามีเสียงของลูกปืนไดชาร์จ ไดสตาร์ทด้วย จากการฟังก็มาถึงการใช้วิธีดมกลิ่นที่ท่อไอเสียดู ถ้ามีกลิ่นไม่ฉุนมากนักก็แสดงว่าเผาไหม้ได้หมด แต่ถ้ามีกลิ่นฉุนรุนแรงหรือมีควันสีดำออกมาเวลาเร่งเครื่องก็แสดงว่าเผาไหม้ไม่หมดเครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์ และรถคันนั้นจะกินน้ำมันมากกว่าปกติอีกด้วย หรือถ้าเป็นควันสีขาวไหลออกทางปลายท่อ ยิ่งมีปริมาณมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงว่าเครื่องหลวมมากเท่านั้น 4. ตรวจเช็คระบบแอร์ ตรวจเช็คตู้แอร์ดูว่ามีเสียงของพัดลมดังผิดปกติหรือไม่ เสียงของคอมแอร์ดังขึ้นมาไหม ซึ่งทดลองได้ไม่ยากนัก แค่ปิด-เปิดแอร์แล้วฟังเสียงดู ถ้ามีเสียงดังตอนเปิด และเงียบลงตอนปิดก็แสดงว่าคอมแอร์เริ่มมีปัญหา 5. ตรวจเช็คระบบเกียร์ สำหรับระบบเกียร์นั้นมีวิธีการตรวจเช็คแบบง่ายๆ ถ้าเป็นเกียร์อัตโนมัติให้ลองเข้าเกียร์ D โดยใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรกเอาไว้แล้วใช้เท้าขวาเหยียบคันเร่งลงไปเรื่อยๆ ถ้ารอบอยู่ที่ประมาณ 2,000 รอบ/นาที ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้ารอบเลยขึ้นไปถึง 2,500-3,000 รอบขึ้นไป ก็แสดงว่าชุดคลัตช์เริ่มลื่นแล้ว เกียร์ธรรมดาก็เช่นกัน ให้ติดเครื่องและเข้าเกียร์หนึ่งโดยใช้เท้าขวาเหยียบเบรกเอาไว้และค่อยๆ ปล่อยคลัตช์ดู ถ้าเครื่องดับแสดงว่าคลัตช์ยังดีอยู่ แต่ถ้าเครื่องยังไม่ดับก็แสดงว่าชุดคลัตช์เสียซะแล้ว 6. การตรวจเช็คสภาพห้องโดยสาร การตรวจสอบภายในห้องโดยสาร ให้ตรวจเช็คอย่างละเอียดว่าระบบไฟฟ้า ระบบไฟสัญญาณต่างๆ บนหน้าปัดขณะที่บิดกุญแจไปยังตำแหน่ง ON สัญญาณเครื่องหมายต่างๆ บนหน้าปัดจะต้องมีโชว์ขึ้นมาทั้งหมด เมื่อเครื่องยนต์สตาร์ทติดแล้วไฟต่างๆ เหล่านี้จะต้องดับหมด ซึ่งถ้าตรงไหนยังไม่ดับแสดงว่าระบบนั้นต้องมีปัญหา เช่น ไฟ ABS ถ้าติดอยู่แสดงว่าระบบ ABS มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ หรือถ้าไฟ AIR BAG ติดอยู่ก็แสดงว่าระบบถุงลมนิรภัยมีปัญหาแน่ ส่วนในบางทีถ้าบิดสวิตช์กุญแจแล้วไฟสัญญาณบางดวงไม่โชว์ทั้งที่มีระบบนั้น ก็แสดงว่ามีการถอดหลอดออกเพื่อไม่ให้ไฟโชว์ และอีกอย่างสำหรับรถรุ่นใหม่ๆ ก็อย่าลืมตรวจเช็คกระจกไฟฟ้า สวิตช์ไฟ ระบบไฟส่องสว่างต่างๆ ว่าทำงานหรือไม่ ระบบเครื่องเสียงยังคงใช้ได้อยู่ไหม ตรวจเบาะนั่งทุกตัวต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมทั้งดูอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบไปด้วย ขั้นตอนสุดท้ายในการเลือกซื้อรถมือสองต้องลองขับด้วยตัวเอง การทดลองขับบนถนนที่มีสภาพถนนต่างๆ หลายๆ แบบจะยิ่งช่วยให้การตรวจสอบนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วงที่ทดลองขับให้พยายามฟังเสียงเครื่องยนต์ดูว่ามีอะไรผิดปกติไหม เข็มวัดอุณหภูมิความร้อนของเครื่องอยู่ในระดับปกติหรือไม่ จับอาการการทำงานของเกียร์ ซึ่งถ้าเป็นเกียร์อัตโนมัติให้สังเกตดูว่าเกียร์เปลี่ยนครบทุกเกียร์ไหม มีการเปลี่ยนเกียร์ที่ต่อเนื่องและนิ่มนวลหรือไม่ กระตุกมากเกินไปไหม และอย่าลืมสังเกตอีกนิดว่าเกียร์ตอบสนองทันใจไหม เพราะถ้าเร่งเครื่องแล้วรอบขึ้นไปมากแต่รถไม่คอยไปก็แสดงว่าชุดคลัตช์ในเกียร์นั้นคงมีปัญหาแล้วแน่ๆ ส่วนถ้าเป็นเกียร์ธรรมดาก็ให้ลองเปลี่ยนเกียร์ดูให้ครบทุกเกียร์จะได้รู้ว่าเกียร์มีปัญหาไหม ถ้าหากมีเสียงดัง แก๊ก แก๊ก…ขึ้นมาตอนเปลี่ยนเกียร์ทั้งที่เหยียบคลัตช์สุดแล้วแสดงว่าชุดซินโครเมชเกียร์นั้นชำรุดแล้ว หรือเข้าเกียร์ยากก็อาจจะเกิดจากผ้าคลัตช์หมด เวลาที่วิ่งบนถนนที่ขรุขระ ให้สังเกตด้วยว่ามีเสียงผิดปกติของช่วงล่างไหม การบังคับเลี้ยงเป็นอย่างไร รถวิ่งเอียงหรือเฉไปเฉมาไหม หรือเบรกไม่อยู่ และลองเหยียบเบรกดูด้วยว่ามันอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ และรถขับเคลื่อนล้อหน้าให้ทดสอบเพลาขับหน้าด้วยโดยหักเลี้ยวซ้ายสุด ขวาสุดว่ามีเสียงดัง แกร็กๆ เวลาออกตัวหรือไม่ ถ้าเสียงดังก็แสดงว่า เพลาขับหน้าชำรุดแล้ว สุดท้ายให้ดูสภาพของยางที่ติดอยู่กับรถว่า มีการสึกหรอเพียงใด โดยสามารถสังเกตได้อย่างง่ายๆ คือให้ลองเอาเล็บจกไปที่ดอกยาง ถ้ายางแข็งมากจนเล็บจิกไม่เป็นรอย หรือเวลาที่วิ่งแล้วมีเสียงของยางกระทบพื้นถนนที่ดังมากก็แสดงว่ายางนั้นเสื่อมสภาพแล้ว แต่ต้องแยกให้ออกด้วยว่าเป็นเสียงยางหรือเสียงลูกปืนล้อกันแน่ ถ้ายางนั้นสึกไม่เท่ากันทั้งหน้ายางก็แสดงว่าศูนย์ล้อนั้นมีปัญหาแล้ว เรื่องของศูนย์ล้อก็ต้องระวังเอาไว้ด้วย เพราะถ้าแค่ศูนย์ล้อคลาดเคลื่อนธรรมดานั้นสามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าเคลื่อนจนไม่สามารถตั้งได้แสดงว่ารถคันนี้ต้องประสบอุบัติเหตุมาอย่างแน่นอน
ขอบคุณที่มา http://www.unseencar.com |